เมื่อเกิดความสงสัยในกำลังอัดคอนกรีตในตัวโครงสร้าง ไม่ว่ามาจากสาเหตุของผลทดสอบก้อนคอนกรีตตัวอย่างที่ให้ค่าต่ำเกิดรอยร้าวในโครงสร้าง หรือต้องการทราบความแข็งแรงของโครงสร้างเก่า เราจึงควรทำการตรวจสอบความแข็งแรงของคอนกรีตในโครงสร้าง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามที่วิศวกรโครงสร้างได้กำหนดหรือใช้ในการออกแบบ

 

                หากทำตามขั้นตอนทางวิศวกรรม ควรเลือกวิธีที่ไม่ทำลายโครงสร้างก่อน อาทิ การตรวจสอบด้วยวิธีวัดความต้านทานการเจาะ ( Penetration Resistance Test ) ตามมาตรฐาน ASTMC803 วิธีการสะท้อน (Rebound Test) ตามมาตรฐาน ASTMC805 วิธีหาความเร็วคลื่น โดยการยิงคลื่นความถี่ใต้เสียง (Ultrasonic Pulse Velocity Test) ตามมาตรฐาน ASTMC597

 

                เมื่อทดสอบโดยวิธีไม่ทำลายแล้วได้ผลทดสอบที่ต่ำกว่าเกณฑ์ จึงใช้วิธีทดสอบแบบทำลายเช่น วิธีดึงให้หลุด (Pullout Test) ตามมาตรฐาน ASTMC900 วิธีเจาะ หรือตัดคอนกรีตและนำไปทดสอบ (Drilled Cores and Sawed Beams) ตามมาตรฐาน ASTMC42 ซึ่งใช้หาได้ทั้งค่ากำลังอัด (Compressive Strength ตามมาตรฐาน ASTMC39) กำลังดึงแบบผ่ากลางในแนวราบ (Splitting Tensile Strength ตามมาตรฐาน ASTMC496) และค่าแรงดัด (Flexural Strength ตามมาตรฐาน ASTMC78) และเมื่อผลทดสอบไม่ผ่านเกณฑ์ จึงใช้วิธีทดสอบโดยแบกน้ำหนัก(Load Tests of Concrete Structures) ตามมาตรฐาน ACI 437.1R-07 ซึ่งเมื่อไม่ผ่านเกณฑ์จึงเข้าสู่กระบวนการอื่นต่อไป โดยควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิศวกรโครงสร้างว่าจะเสริมกำลังหรือรื้อและสร้างใหม่

 

                ส่วนการเปรียบเทียบระหว่างกำลังอัดของก้อนคอนกรีตตัวอย่าง และก้อนคอนกรีตจากโครงสร้างที่ได้มาจากการเจาะ (Core Sample)นั้น โดยปกติก้อน Core จะมีกำลังอัดเฉลี่ยที่น้อยกว่า ยกเว้นกรณีที่เทคอนกรีตบนพื้นรองที่ดูดซับน้ำได้ ซึ่งจะส่งผลให้คอนกรีตบริเวณข้างบนมีปริมาณน้ำลดลง และการเทคอนกรีตในฐานรากขนาดใหญ่ซึ่งมีความร้อนสูง ทั้งสองกรณีนี้อาจทำให้กำลังอัดของก้อน Core สูงกว่า

 

                การที่ก้อน Core ให้คำกำลังอัดที่ต่ำกว่านี้เป็นเรื่องที่วิศวกรยอมรับได้ จึงได้กำหนดไว้ใน ACI 318 ว่าด้วยการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะคอนกรีตในโครงสร้างผ่านกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การขนถ่าย การเท การจี้ การเขย่า และยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้กำลังอัดต่ำ ดังนี้

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้กำลังอัดต่ำ


1.สภาพแวดล้อม เนื่องจากคอนกรีตโครงสร้างขาดการบ่ม หรือมีการบ่มที่ด้อยกว่าคอนกรีตตัวอย่างที่ถูกบ่มอย่างสมบูรณ์ตามมาตรฐานเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ก้อน Croe จึงให้กำลังอัดที่ต่ำกว่า


2.เหล็กเสริมแนวขวาง บางครั้งการเจาะไม่สามารถหลีกเลี่ยงตำแหน่งที่มีเหล็กเสริมได้หากก้อน Core มีเหล็กเสริมในแนวนอนก็จะส่งผลในกำลังอัดลดลง 5-15 คือจะยิ่งลดลงมากเมื่อคอนกรีตมีกำลังอัดสูงมาก


3.แนวของการเจาะ ควรเจาะในแนวดิ่ง คือแนวที่คอนกรีตถูกจี้เขย่า การเจาะในแนวนอนไม่สามารถให้ค่ากำลังอัดที่แม่นยำได้ เพราะจำเป็นให้ซีกหนึ่งของก้อน Core มีสัดส่วนของหินมากกว่าอีกซีกหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้กำลังอัดน้อยกว่าค่าที่ควรจะได้


4.ขนาดของมวลรวมหยาบ (หิน) เมื่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของก้อน Core น้อยกว่าสามเท่าของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหินขนาดใหญ่ที่สุดสามารถส่งผลให้กำลังอัดลงลงได้ถึงร้อยละ 10


5.สัดส่วนระหว่างความสูงและเส้นผ่านศูนย์กลาง ของก้อน Core หากไม่เท่ากับ 2 ก็จะทำให้กำลังอัดลดลง (แต่ต้องไม่มากกว่า 2 เพราะจะทำให้กำลังอัดลดลงอย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้) แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 0.95


6.อายุคอนกรีต โครงสร้างที่มีอายุมากกว่า 1 เดือนอาจมีกำลังอัดเพิ่มขึ้น มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับส่วนผสมคอนกรีต และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศโดยรอบ การทดสอบก้อน Core ที่อายุมากกว่า 28 วัน จึงไม่สามารถคาดการณ์ถึงกำลังอัดได้


7.กระบวนการเจาะ เนื่องจากเครื่องเจาะใช้ความเร็วสูงและมีความสั่นสะเทือนมาก จึงทำให้คอนกรีตในก้อน Core เสียหายได้จึงอาจส่งผลให้กำลังอัดลดลง

 

เพราะปัจจัยข้างต้นนี้เอง ACI 318 จึงได้กำหนดให้ก้อน Core ผ่านเกณฑ์ เมื่อมีค่าเฉลี่ยเท่ากับหรือสูงกว่าร้ายละ 85 ของกำลังอัดรับรอง (f’c) หรือในกรณีนี้คือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 ของกำลังอัดที่วิศวกรโครงสร้างใช้ในการออกแบบแต่ต้องไม่มีก้อน Core (ที่มีสภาพสมบูรณ์) มีค่ากำลังอัดต่ำกว่าร้อยละ 75 ของ f’c

 

แหล่งที่มา : วารสาร CPAC NEWS ฉบับที่ 2 ปี 2557